简体中文
繁體中文
English
Pусский
日本語
ภาษาไทย
Tiếng Việt
Bahasa Indonesia
Español
हिन्दी
Filippiiniläinen
Français
Deutsch
Português
Türkçe
한국어
العربية
บทคัดย่อ:บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหรียญ USDT เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ ‘สายไหมต้องรอด’ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ต้องหาใช้ USDT เพราะต้องการทำให้การติดตามธุรกรรมทำได้ยากขึ้น USDT มีความเป็นส่วนตัวระดับหนึ่ง แต่ธุรกรรมทั้งหมดถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชนและทำให้สามารถติดตามได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ใช้ต้องการนำไปแลกเงินผ่านระบบการเงินที่มีการยืนยันตัวตน (KYC) บริษัท Tether ผู้ออกเหรียญ USDT มีความพยายามร่วมมือกับหน่วยงานรัฐมากขึ้นในการปราบปรามการฟอกเงิน
หากพูดถึงคดีอื้อฉาวแห่งเดือนตุลาคมปีนี้ คงจะไม่มีชื่อไหนที่เป็นกระแสทั่วประเทศไปมากกว่า ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ (The iCon Group) แล้ว เนื่องจากเป็นเคสที่มีบุคคลดังระดับประเทศเกี่ยวพันในฐานะผู้ต้องหาการฉ้อโกงครั้งนี้ผ่านการเชิญชวนสมาชิกใหม่ให้มาเข้าร่วมเพื่อนำสินค้าไปขายต่อ แต่ผู้เข้าร่วมหลายรายกลับขายสินค้าไม่ได้จนนำมาสู่ความเสียหายในวงกว้าง
นอกเหนือจากรูปแบบธุรกิจที่ไม่ชอบมาพากล อีกหนึ่งประเด็นที่ผุดขึ้นมาในคดีนี้คือการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน
เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ ‘สายไหมต้องรอด’ ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จ่ายสินบนมูลค่ามหาศาลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐด้วยเหรียญ USDT ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภท Stablecoin ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด และมีมูลค่าสอดคล้องกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดยจุดประสงค์ของการใช้เหรียญ USDT ทำธุรกรรมก็เพื่อปกปิดร่องรอยธุรกรรม และทำให้การสาวกลับมาหาตัวต้นทางทำได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากมุมของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคริปโต เหรียญ USDT เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการฟอกเงินจริงหรือ ในเมื่อธุรกรรมทุกรายการถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน แล้วการตามตัวมันยากเหมือนที่หลายคนคิดหรือเปล่า?
THE STANDARD WEALTH จะขอพาย้อนกลับไปดูกรณีที่ Tether เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือ ‘ฟอกเงิน’ พร้อมทั้งถอดมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการคริปโตว่า เหรียญดังกล่าวเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใช้ฟอกเงินมากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณรูปจาก bangkokbiznews
ย้อนรอยคำกล่าวหา USDT ในฐานะเหรียญฟอกเงิน
เมื่อช่วงต้นปี 2024 องค์การสหประชาชาติ (UN) ตีพิมพ์รายงานที่มีส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่พาดพิงบริษัท Tether ผู้ออกเหรียญ USDT ว่ากำลังเป็นเครื่องมือที่มิจฉาชีพนิยมใช้กันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหารายงานมีใจความดังนี้
“USDT กลายเป็นตัวเลือกที่นิยมสำหรับการฟอกเงินในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากราคามีความเสถียร ใช้งานง่าย ไม่เปิดเผยตัวตน และค่าธรรมเนียมต่ำ โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยข่าวกรองทางการเงินในภูมิภาครายงานว่า USDT เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มอาชญากรรมฉ้อโกงทางไซเบอร์ ซึ่งเราพบได้จากจำนวนคดีและจำนวนแพลตฟอร์มพนันออนไลน์กับศูนย์ซื้อขายคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้บริการ ‘ธุรกิจใต้ดิน’ บนพื้นฐานของสกุลเงิน USDT”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากรายงานฉบับดังกล่าวจาก UN เผยแพร่สู่สาธารณะ บริษัท Tether ก็ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหา โดยระบุถึงความลำเอียงของรายงานที่เลือกโฟกัสเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้งานโดยมิจฉาชีพ และเพิกเฉยต่อประโยชน์ที่ USDT มีให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา
พร้อมกันนี้ Tether ระบุเพิ่มเติมถึงความสามารถในการติดตามธุรกรรมที่บริษัทร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น FBI, DOJ หรือ USSS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ศักยภาพที่เหนือกว่า ‘ระบบธนาคารดั้งเดิม’ ที่ Tether อ้างว่า “เป็นแหล่งฟอกเงินจำนวนมหาศาลมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากหลักฐานค่าปรับที่เหล่าธนาคารถูกเรียกเก็บ”
นอกจากนี้ Tether ยังแนะนำให้ UN ศึกษาการทำงานของบล็อกเชนให้เข้าใจก่อน โดยชี้ว่า “เหรียญที่ออกโดย Tether ใช้ระบบบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ซึ่งหมายความว่าเราสามารถติดตามธุรกรรมทุกรายการได้อย่างละเอียด ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะมากนักในการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม” เมื่อธุรกรรมทุกรายการสามารถติดตามได้อย่างละเอียด ทำไมมิจฉาชีพบางคนถึงยังเลือกใช้?
เหรียญ USDT ช่องทางการส่งเงินที่อาจตามได้ยาก แต่ไม่ใช่ตามไม่ได้
ด้วยระบบที่เปิดกว้างและโปร่งใสของ USDT ผู้ใช้งานหรือใครก็ตามสามารถเข้ามาตรวจสอบประวัติธุรกรรมได้ แต่หนึ่งในข้อจำกัดของการติดตามที่ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ Managing Director Trustender, Founder Thai Bitcast และกรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองว่ายังมีอยู่ คือเรื่องของความเข้าใจในระบบ
“ในปัจจุบันความรู้และความเข้าใจยังอยู่ในวงแคบ ดังนั้นการจะมีผู้รู้ที่สามารถเข้ามาตรวจสอบยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งถ้าเทียบกับระบบธนาคารปัจจุบัน การโอนเงินจำนวนมากจำเป็นจะต้องมีการรายงานจากธนาคาร แต่ถ้าเป็นเหรียญอย่าง USDT การรายงานจากตัวกลางทางการเงินอาจไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นการโอนบนบล็อกเชนระหว่างผู้รับและผู้ส่งโดยตรง” ศุภกฤษฎ์กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH
คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย CEO and Founder Thai Bitcast ขอบคุณรูปจาก thaidigitalasset
อย่างไรก็ดี ศูนย์ซื้อขายที่ได้รับการอนุมัติตามกฎหมายจะมีระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน (KYC) ทำให้การระบุตัวตนที่เชื่อมโยงกับกระเป๋าเงินดิจิทัลของบุคคลนั้นๆ ทำได้ไม่ยาก
ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อยู่นอกเหนือศูนย์ซื้อขายและไม่ได้รับการยืนยันตัวตน จะทำให้การตามตัวยิ่งท้าทายมากขึ้น แต่ยังคงทำได้อยู่ เพราะในที่สุดแล้วขอบเขตการใช้งานคริปโตอย่าง USDT ในฐานะ ‘สื่อกลางการแลกเปลี่ยน’ ยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้เหรียญต้องถูกแปลงออกมาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อใช้จ่าย ซึ่งเป็นจุดที่หน่วยงานรัฐสามารถย้อนกลับไปดูประวัติเพื่อตามตัวได้
หนึ่งในตัวอย่างของการตามแกะรอยเส้นทางธุรกรรม USDT ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงตลาดกระทิงปี 2021 คือกรณีการโจรกรรมไซเบอร์ด้วยการปล่อยมัลแวร์เพื่อแลกกับค่าไถ่เป็นสกุลเงินคริปโตจากเหยื่อ แต่เนื่องจากบล็อกเชนมีความโปร่งใส ทำให้เมื่อมีการโอนเงินเข้าไปสู่กระเป๋าใดกระเป๋าหนึ่งในลักษณะที่ผิดปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถจับตาดูกระเป๋าเงินนั้นและสาวหาต้นตอ เมื่อมีการเปลี่ยนจากคริปโตออกมาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศผ่านระบบธนาคาร
แม้ว่า USDT จะไม่ใช่เหรียญที่ให้ความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริงกับมิจฉาชีพเพื่อใช้สำหรับฟอกเงิน แต่ความสะดวกรวดเร็ว สภาพคล่องสูง และต้นทุนการตามตัวที่มากกว่าระบบการเงินทั่วไป ทำให้มิจฉาชีพบางรายยังเลือกที่จะใช้ USDT
ในฟากของ พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้ง Right Shift แสดงความเห็นที่คล้ายกันในเรื่องนี้ว่า USDT ไม่ใช่เครื่องมือฟอกเงินที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทผู้ออกเหรียญอย่าง Tether ร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศต่างๆ ในการพยายามปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้บริษัทมีสิทธิที่จะอายัดสินทรัพย์ในกระเป๋าที่ถูกตั้งข้อสงสัยให้ใช้งานไม่ได้
คดีอื้อฉาวของ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้คริปโตในทางที่ผิด แต่ความผิดอาจไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเหรียญ USDT แต่เป็นที่ตัวของบุคคลที่ต้องการหาผลประโยชน์จากสิ่งใหม่ที่หลายภาคส่วนในสังคมยังไม่เข้าใจ ผนวกกับความเร็ว ความสะดวก และสภาพคล่องที่ USDT มีให้ แม้ว่ามันจะไม่สมบูรณ์แบบ
ดังนั้นตราบใดที่ยังมีผู้แสวงหาประโยชน์จากระบบการเงิน คนกลุ่มนี้ก็จะสำรวจและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นของหน่วยงานกำกับดูแลในการเตรียมแผนรับมือที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือ ‘อาชญากร’ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเทคโนโลยี
ขอบคุณข้อมูลจาก THE STANDARD WEALTH
อ่านข่าวสาร Forex ทั่วโลกเพิ่มเติมคลิกเลย :https://www.wikifx.com/th/original.html?source=tso4
คุณสามารถตรวจสอบใบอนุญาตโบรกเกอร์ Forex และอ่านรีวิวข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ผ่านแอป WikiFX เพียงแค่ไปค้นหาชื่อก็เจอข้อมูล ใครที่อยากได้ความรู้ เทคนิค กลยุทธ์การเทรด หรือการวิเคราะห์แนวโน้มตลาด ก็สามารถเข้ามาอ่านได้ อีกทั้งยังมีบริการ EA VPS บนแอป WikiFX อีกด้วย แอปเดียวที่จบครบเรื่อง Forex ดาวน์โหลดฟรี โหลดเลยตอนนี้จะพลาดได้ไง!
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:
มุมมองในบทความนี้แสดงถึงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน สำหรับแพลตฟอร์มนี้ไม่รับประกันความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาของข้อมูลบทความ และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความ
FXTM
FBS
EC Markets
HFM
FxPro
Tickmill
FXTM
FBS
EC Markets
HFM
FxPro
Tickmill
FXTM
FBS
EC Markets
HFM
FxPro
Tickmill
FXTM
FBS
EC Markets
HFM
FxPro
Tickmill